สวัสดีค่ะ กลับมาพบกับสาระน่ารู้ประจำสัปดาห์อีกครั้งนะคะ
ทุก ๆ ท่านอาจจะเคยเห็นตัวอักษร さしすせそ(sa – shi – su – se – so )ในภาษาญี่ปุ่นกันใช่ไหมคะ แต่ถ้าพูดถึงเรื่องอาหารแล้ว ทราบไหมคะว่า さしすせそ(sa – shi – su – se – so ) นั้น มีความหมายว่าอย่างไร?
ถ้าอย่างนั้น มาเริ่มกันที่
- さ (sa) มาจากคำว่า 砂糖 さとう (sa-tou) แปลว่า น้ำตาล
- し (shi) มาจากคำว่า 塩 しお (shi-o) แปลว่า เกลือ
- す(su) มาจากคำว่า 酢 す (su) แปลว่า น้ำส้มสายชู
- せ(se) มาจากคำว่า 醤油 しょうゆ (shou-yu) แปลว่า โชยุ (ในสมัยก่อนใช้คำว่า せうゆ se-u-yu)
- そ (so) มาจากคำว่า 味噌 みそ (mi-so) แปลว่า เต้าเจี้ยว
ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นบทเรียนเริ่มต้นสำหรับการทำอาหารญี่ปุ่น และเป็นการแสดงถึงลำดับต่าง ๆ ในการประกอบอาหาร ยกตัวอย่าง ในกรณีที่จะปรุงรสเนื้อสัตว์ ถ้าหากใส่เกลือก่อน เกลือก็อาจจะไม่เข้าเนื้อ ถึงแม้ว่าคุณจะใส่น้ำตาลตามในภายหลัง อีกทั้งเต้าเจี้ยวก็ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ถ้าหากไม่ปรุงรสด้วยเต้าเจี้ยวในตอนท้าย กลิ่นหอมก็จะไม่ค่อยเข้าเนื้อเช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นต้องจำลำดับการทำอาหารแบบ「さしすせそ」(sa – shi – su – se – so )ให้ขึ้นใจ
วิธีการจำแบบนี้ สามารถเรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นได้ว่า「ごろあわせ」(go-ro-a-wa-se) หรือการเล่นคำ/การเล่นสำนวน คนญี่ปุ่นมักจะชอบการเล่นคำแบบนี้มาก โดยเฉพาะการเล่นคำแบบตัวเลข เช่น เลข 931
9 คือคำว่า く(ku)3 คือคำว่า さ(ん) (san)1 คือคำว่า い(ち)(i-chi)จะสามารถอ่านรวมกันได้ว่า くさい (ku-sai) ที่แปลว่ากลิ่นเหม็น
แต่ในกรณีของさしすせそ(sa – shi – su – se – so ) ที่เกี่ยวกับเรื่องของอาหาร หลาย ๆ คนก็อาจจะลืมว่าตัวอักษร せ(se)คือคำว่า しょうゆ (shou-yu) ตัวอักษร そ (so) ก็เช่นกัน บางคนก็อาจจะคิดว่า そ (so) มาจากคำว่า ソース(sou-su) ซึ่งการจำแบบการเล่นคำ/เล่นสำนวนนี้ ก็จะมีข้อดีข้อเสีย หรือที่เรียกว่า 「一長一短」いっしょういったん(ic-chou-it-tan) แตกต่างกันไปค่ะ
ถ้าหากทุกท่านได้มีโอกาสในการทำอาหาร อย่าลืมลองนำวิธีการทำแบบ「さしすせそ」ไปปรับใช้กันนะคะ
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้าค่ะ